สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ มีนามเดิมว่า สมศักดิ์ ชูมาลัยวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2484 เป็นบุตรของ นายเหลี่ยม นางสำลี ชูมาลัยวงศ์ เป็นชาวอ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา อุปสมบท เมื่ออายุ 20 ปี ณ วัดละมุด ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์เอเซียโบราณ จากมหาวิทยาลัยมคธ ประเทศอินเดีย
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ดำรงตำแหน่งงานด้านการศึกษาที่สำคัญๆ ของคณะสงฆ์ คือ ครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ชั้นเปรียญธรรม 6 ประโยค และ 7 ประโยค สำนักเรียนวัดชนะสงคราม, ชั้นเปรียญธรรม 5 ประโยค และ 6 ประโยค สำนักเรียนวัดดาวดึงษาราม, ชั้นเปรียญธรรม 8 ประโยค และ 9 ประโยค สำนักเรียนคณะสงฆ์ส่วนกลางวัดสามพระยา และเคยดำรงตำแหน่งคณบดี คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นผู้ดำริจัดตั้งสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส เพื่อจัดการเรียนการสอนคัมภีร์พื้นฐานบาลีพระไตรปิฎก ได้แก่ คัมภีร์ศัพทศาสตร์ นิฆัณฑุศาสตร์ ฉันทศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ยกสถานภาพขึ้นเป็นวิทยาเขต ลำดับที่ 10 ชื่อมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ซึ่งจัดการเรียนการสอน สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์, พระพุทธศาสนา, พระไตรปิฎกศึกษา และวิปัสสนาภาวนา ตั้งแต่ ชั้นปริญญาตรี จนถึงชั้นปริญญาเอก ปัจจุบันมีนิสิตทุกสาขาวิชา จำนวน 490 รูป
นอกจากนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ยังได้สร้างผลงาน วรรณกรรมวิชาการบาลี และวิปัสสนาไว้มากมาย เช่น สัททานุกรมพระไตรปิฎกเชิงวิจัย ฉบับบาลีไทย การศึกษาเชิงวิเคราะห์พระคาถาธรรมบท ตรวจชำระคัมภีร์สัททนีติเป็นต้น จนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์พิเศษ” ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดทางวิชาการด้านภาษาบาลี นอกจากนั้น รัฐบาลสหภาพเมียนมา ได้ถวายตำแหน่ง “อัครมหาบัณฑิต” เพื่อเชิดชูเกียรติคุณพระมหาเถระผู้มีผลงานทางภาษาบาลี และวิปัสสนาภาวนา
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ นับเป็นพระมหาเถระ ผู้เป็นแบบอย่างของพระนักวิชาการ นักปฏิบัติ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์มาตามลำดับ คือ พระศรีสุทธิพงศ์ พระราชปริยัติโมลี พระเทพปริยัติโมลี พระธรรมโมลี พระพรหมโมลี และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนา ให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ “สมเด็จพระพุทธชินวงศ์” เมื่อพุทธศักราช 2554