logo

ตะกร้าสินค้า

แนวคิดการออกแบบ

โครงการพุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ เป็นสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องในพุทธศาสนา มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชน และมวลชนทั้งหลายโดยคณะทำงานได้เลือกใช้แนวความคิดของ "ไตรภูมิ" หมายถึง สามโลก ซึ่งเป็นคติเกี่ยวกับโลก สัณฐาน ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ ไตรภูมิประกอบด้วย กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ สัตวโลกทั้งหลายก็จะต้อง เวียนว่ายตายเกิด ในไตรภูมินี้จนกว่าจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และที่มาของแนวคิดไตรภูมินั้น มาจากไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นวรรณกรรม ทางพุทธศาสนาที่กล่าวถึงภูมิ (แดน) ทั้ง 31 คือ กามภูมิ11, รูปภูมิ16 และอรูปภูมิ 4 ซึ่งมีเนื้อหาพรรณนาถึงที่อยู่ ที่ตั้ง และการเกิดของมนุษย์ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และเทวดา ที่ตั้งเหล่านี้มีเขาพระสุเมรุ เป็นหลัก เขาพระสุเมรุนั้น ตั้งอยู่ท่ามกลาง จักรวาลมีทิวเขาและทะเลล้อม ทิวเขาเหล่านี้รวมเรียกว่าเขาสัตตบริภัณฑ์ ส่วนทะเลที่รายล้อมอยู่ 7 ชั้น เรียกว่า มหานทีสีทันดร ถัดจากทิวเขาอัศกรรณออกมาเป็นมหาสมุทรอยู่ทั่วทุกด้าน แล้วจะมีภูเขาเหล็กกั้นทะเลนี้ไว้รอบเรียกว่า ขอบจักรวาล พ้นไปนอกนั้นเป็นนอกขอบจักรวาล

เขาพระสุเมรุ เป็นภูเขาที่เป็นหลักของโลกโดยมี ปลาอานนท์หนุนอยู่ ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของโลก หรือจักรวาล อันยิ่งใหญ่ เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ ตามตำนานกล่าวว่า พระอิศวรทรงสร้างน้ำด้วยพระเสโท (เหงื่อ) สร้างแผ่นดินด้วยเมโท (ไคล) ของพระองค์ (บางตำนานว่าทรงสำรอกพระมังสะในพระอุระออกมาบันดาลให้ เป็นแผ่นดิน) พระอิศวรมีพระประสงค์จะประดิษฐานภูเขาใหญ่ให้เป็นหลักของโลก จึงทรงเอา พระจุฑามณี (ปิ่นปักผม) ปักลงที่ใจกลางของ พื้นภพ บันดาลให้เป็นเขาพระสุเมรุ แล้วเอาพระสังวาลย์มาสร้างเป็นทิวเขาสวมรอยเขาพระสุเมรุอีก 7 ทิว เรียกว่า สัตบริภัณฑ์คีรี เพื่อให้เป็นที่อาศัยของทวยเทพทั้งหลาย
จำนวนการเข้าชมทั้งหมด (ครั้ง)
1,196,323